Last updated: 11 มิ.ย. 2566 | 1172 จำนวนผู้เข้าชม |
ในพื้นที่ของการศึกษา ปัจเจกชนจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือการศึกษาที่ตนเองต้องการ ทุกคนจึงต้องมีเป้าหมาย (objective) ในชีวิต เช่น อยากจะมีอาชีพอะไร? แม้ความต้องการหรือเป้าหมายของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ปัจเจกชนจำนวนมากต้องใช้การศึกษาในฐานะวิถีทางหรือเครื่องมือ (instrumental) ในการประกอบอาชีพและการเลื่อนฐานะทางชนชั้น การศึกษาถูกใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและตนเอง ถึงแม้กรอบความคิดแบบ Instrumental Rationality จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าทำให้ผู้ใช้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเครื่องมือและผลประโยชน์เพื่อตอบสนองต่อแรงปรารถนาของปัจเจกชนก็ตาม
กรอบความคิดแบบ Instrumental Rationality ชี้ชัดว่าเป้าหมายหรือ ‘ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ’ คืออะไร หัวใจสำคัญคือการแสวงหาหนทางหรือวิถีทาง (means) ไปสู่เป้าหมาย ทั้งนี้ กรอบคิดแบบ Instrumental Rationality ทำให้เป้าหมายที่ชัดเจนควรมีเป้าหมายเดียวสูงสุด กล่าวคือ เป้าหมายที่ชัดเจนเพียงหนึ่งเดียวเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดประหนึ่งการบูชาพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว (monotheism) การพุ่งสู่เป้าหมายเดียวย่อมต้องไม่มีการเบี่ยงเบน โดยการมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการอะไรนั้นเพิ่มพูนความอยากหรือแรงปรารถนา (desire) ให้เข้มข้น และพร้อมเสมอที่จะแข่งขันหรือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนา จนทำให้ปัจเจกชนที่มีแต่การแข่งขัน (competitive individualism) เป็นไปได้
ระบบความคิดที่จำเป็นสำหรับตลาดดำเนินไปด้วยกรอบความคิดแบบ Instrumental Rationality ที่ยังเป็นรากฐาน โดยดำเนินไปพร้อมกับแนวคิดแบบจัดยุทธศาสตร์ (strategy) และเชิงกลยุทธ์ (tactic) ต่างๆ ซึ่งพบเห็นได้จากความคิดด้านธุรกิจและการทหาร กรอบคิดในแบบยุทธศาสตร์และเชิงกลยุทธ์เป็นแนวทางที่ปรากฏให้เห็นได้เสมอในตลาด เช่น หนังสือประเภท ‘ทำอย่างไร’ (how to) การให้ความสำคัญกับกรอบคิดแบบ ‘ทำอย่างไร’ ไปจนถึงการสร้างยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ต่างๆ ทำให้ Triple Helix เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น รัฐบาลมหาวิทยาลัยและธุรกิจใกล้ชิดกันมากขึ้นเพราะคิดในกรอบคิดแบบเดียวกัน เมื่อมี Triple Helix กรอบคิดทางการเมืองการทหาร และกรอบคิดทางธุรกิจและวิถีปฏิบัติของปัจเจกชนจึงแยกจากกันได้ยาก
การศึกษาไม่สมควรเป็นวิถีของชนชั้นสำราญชน (leisure class) ที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตแบบฟุ่มเฟือยอีกต่อไป การศึกษาในระดับสูงไม่ได้จำกัดให้เป็นเรื่องของชนชั้นสูงผู้ไม่ได้เป็นห่วงเรื่องการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพอีกต่อไป กล่าวได้ว่า การศึกษาที่ตอบสนองต่อตลาดไม่ใช่กิจกรรมของชนชั้นนำ (elite) ในอดีต ที่จะเสียเวลาและโอกาสไปกับความร่ำรวยทางปัญญาที่หาคุณค่าไม่ได้ในทางเศรษฐกิจอีกต่อไป เมื่อเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ทางเศรษฐกิจ ก็เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์เกินกว่าจะอยู่ในพื้นที่ของตลาด กล่าวอีกนัยคือ ‘เรื่องที่ประเมินค่าไม่ได้’ ย่อมไม่อยู่ในการค้าหรือการแลกเปลี่ยนในสายสัมพันธ์เชิงตลาด
การศึกษาของชนชั้นสำราญชน (leisure class) ซึ่งเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยก่อนปลายศตวรรษที่ 9 ไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในทางการค้า งบประมาณและค่าจ่ายในการศึกษาถูกใช้จ่ายไปโดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการศึกษาต้องใช้เงินภาษีอากร ทำให้การทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจก็ถูกมองว่า ‘ไม่เคารพในภาษีที่เก็บจากประชาชน’ ดังนั้น ภายใต้งบประมาณที่จำกัดและต้องใช้อย่างคุ้มค่า (ภาษี) ทำให้การลด/ตัดรายจ่ายเป็นสิ่งที่จำเป็น นโยบายประหยัด (austerity) ของรัฐบาลเป็นคำสำคัญของเสรีนิยมใหม่ที่ส่งเสียงดังออกมาเสมอ มหาวิทยาลัยเป็นเรื่องของการประกอบอาชีพและเป็นเรื่องตลาดที่ต้องการขนาดของผู้คนปริมาณมากๆ เป็นเป้าหมาย ส่งผลให้การศึกษาต้องมีเป้าหมายอยู่ที่มวลชนและต้องเป็นแบบปริมาณมาก (mass)
กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พิจารณาจากรายได้รายจ่ายย่อมชัดเจนและประเมินได้ เช่น ผลิตผลทางการศึกษาที่สถาบันการศึกษาผลิตออกไปแล้วได้งาน หรือมีเงินเดือนเท่าใด จึงเป็นดัชนีสำคัญในการประเมินความสำเร็จที่สำคัญ การประเมินค่าที่เกิดขึ้นจากปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงเศรษฐกิจ ทำให้ความแตกต่างกันในเชิงลำดับชั้น (hierarchy) เป็นสิ่งสำคัญ ความแตกต่างกันในระดับชั้นเป็นจักรกลสำคัญที่ทำให้การเป็นผู้ที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่ในสิ่งมีชีวิตและการเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา เช่น เป้าหมายสูงสุดก็คือตำแหน่งที่หนึ่ง ในแง่หนึ่ง วัฒนธรรมการจัดอันดับ (ranking) เป็นวัฒนธรรมสำคัญของเสรีนิยมใหม่ อย่างเช่น ลำดับหนึ่งในสิบของมหาเศรษฐีของโลก มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง กล่าวได้ว่า การจัดอันดับเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขัน และเป็นการประกาศรายชื่อสิ่งสำคัญและบุคคลสำคัญเพื่อทำให้ทุกคนมีแรงปรารถนา (desire) ที่จะเลียนแบบ โดยสิ่งที่อยากได้หรือบุคคลที่อยากเลียนแบบส่วนมากก็เป็นผู้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจและกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
บางส่วนจากเล่ม On Academic Capitalism in the age of neoliberalism
ว่าด้วยทุนนิยมมหาวิทยาลัยในสภาวะเสรีนิยมใหม่ โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา
14 เม.ย 2564
17 ก.ค. 2563