'ยูโทเปีย' และ 'ดิสโทเปีย' ไม่ได้อยู่ตรงข้ามกันเสมอ

Last updated: 18 มี.ค. 2566  |  34229 จำนวนผู้เข้าชม  | 

'ยูโทเปีย' และ 'ดิสโทเปีย' ไม่ได้อยู่ตรงข้ามกันเสมอ

สั่งซื้อได้แล้ววันนี้

หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (1984) ฉบับครบรอบ 72 ปี



=====

A.E. Samaan นักประวัติศาสตร์ นักเขียน และศิลปินผู้ให้ความสนใจในประเด็นทางสังคมและโครงสร้างทางการเมือง พูดถึงคำ 'ยูโทเปีย' และ 'ดิสโทเปีย' ว่า

"ทุกๆ [เรื่องราวแบบ] ยูโทเปีย ก็คือดิสโทเปีย คำ ‘ดิสโทเปีย’ เป็นการประดิษฐ์เหรียญอีกด้านของพวกโง่เง่าที่เชื่อว่า ‘ยูโทเปีย’ สามารถเกิดขึ้นและเป็นจริงได้"

และบทความของ Richard Dyer นักวิชาการและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย ใน "ความสนุกสนานบันเทิงและยูโทเปีย" (Entertainment and Utopia) ก็พูดถึงยูโทเปียในประเด็นที่ว่า

"มนุษย์มีความปรารถนาต่อโลกที่ดีกว่านี้ และความรู้สึกนั้นก็ช่วยก่อร่างสร้างอีกจักรวาลที่อุดมไปด้วยความเบิกบาน"


แต่ถ้าเชื่อตามคำกล่าวนี้ ดังนั้น 'ดิสโทเปีย' หมายถึงขั้วตรงข้ามของ 'ยูโทเปีย' ใช่หรือไม่?

มาร์กาเร็ต แอตวูด (Margaret Atwood) นักเขียนระดับโลกเจ้าของผลงาน The Handmaid’s Tale เคยให้นิยามสั้นๆ ว่า "ในทุกๆ เรื่องราวแบบดิสโทเปีย มีความเป็นยูโทเปียเล็กๆ อยู่ในนั้น"

คำกล่าวที่คล้ายคลึงกันนี้ปรากฏเช่นกันในงานชุดไดเวอร์เจนท์ (Divergent Series) วรรณกรรมร่วมสมัยยอดนิยมแนวดิสโทเปีย โดย เวโรนิกา รอธ (Veronica Roth)   เธอบอกว่า " 'ไดเวอร์เจนท์' คือโลกยูโทเปียของฉัน อาจจะไม่ได้วางแผนให้เป็นแบบนั้นมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อเริ่มสร้างโลกใบนั้น ฉันก็พบว่ามันคือยูโทเปียในแบบฉันเอง" 

จำเป็นหรือไม่ที่ 'ยูโทเปีย' ต้องไม่เท่ากับ 'ดิสโทเปีย' เสมอ หรือถ้าใช่อย่างหนึ่ง จะต้องไม่ใช่อีกอย่าง?

ตัวอย่างในนวนิยาย ไดเวอร์เจนท์ คือโลกที่แสดงความเป็นยูโทเปีย-ดิสโทเปียได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ สังคมในนั้นประกอบด้วยคน 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มรับบทบาทที่แตกต่างกันทางสังคม และรูปแบบนี้ก็ช่วยให้ 'ชิคาโก' ในโลกอนาคตที่เป็นเมืองปิดตัวโดดเดี่ยวเพียงลำพังอยู่รอดมาได้ ลักษณะเช่นนี้คือสุนทรียศาสตร์ตามหลักของ 'ยูโทเปีย' ทุกกระเบียดนิ้ว แต่ถึงอย่างนั้น ในแต่ละกลุ่มก็ยังมีผู้ที่คิดต่าง มีมุมมองเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงผิดจากคนทั่วไป จนนำไปสู่การก่อกบฏภายในที่ทำให้สมดุลทางสังคมล่มสลาย

การอยู่ใน 'โครงสร้างทางสังคม' ตามแบบนวนิยายเรื่องนี้ถูกกำหนดเมื่อเด็กวัยรุ่นอายุครบ 16 ปี ซึ่งการเลือกกลุ่มทางสังคมของตนเป็นการสังกัดตลอดชีพ หากเด็กคนไหนเลือกสังกัดต่างจากครอบครัวของตน ก็จะถูกบังคับให้แยกจากครอบครัวตลอดชีวิต รวมถึงมีบางคนที่ผิดแผกไป คือพวกนอกสังกัดที่อยู่ในสถานะไม่อาจเข้าสังกัดใดๆ ได้ ทำหน้าที่เก็บขยะ ขนถังปฏิกูล ทำงานของชนชั้นล่างทุกชนิด และคนที่เป็น 'ไดเวอร์เจนท์' ตัวประหลาดที่มีคุณสมบัติหายาก สังกัดได้มากกว่าหนึ่งกลุ่ม แต่เป็นตัวอันตรายทางสังคมที่ต้องถูกกำจัด

เมื่อพิจารณาระบบแบ่งกลุ่ม ชนชั้นแฝงที่อยู่ภายในแต่ละกลุ่ม และเงื่อนไขข้อจำกัดทางสังคมต่างๆ ภาพมายาของ 'สังคมยูโทเปีย' เมื่อแรกเห็นก็จะค่อยๆ มลายลงทีละน้อยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

คำถามสำคัญสำหรับกรณีตัวอย่างนี้คือ เหตุใด 'ไดเวอร์เจนท์' ถึงถูกมองว่าเป็นตัวอันตรายที่ต้องถูกกำจัด?

ถ้าอ่านความหมายตามตัวอักษร อาจแปลได้ว่า 'ไดเวอร์เจนท์' คือ 'ผู้มีความหลากหลาย' หรือมีความหมายโดยนัยในฐานะปัจเจกชนที่มีความคิดพลิกแพลงแปลกใหม่ ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด หรือ 'กลุ่ม' ที่ตนสังกัดอย่างที่คนในสังคมเกือบทั้งหมดเป็น

แน่นอนว่าสำหรับโลกที่ปกครองด้วยการแบ่งแยกอย่างเข้มงวด บุคคลที่มีความเป็นปัจเจก 'อุดมคติชนผู้นิยมความแตกต่างหลากหลาย' เหล่านี้ คือผู้ที่ต้องถูกกำจัด

ในทางตรงกันข้าม หากมองว่าโลกดิสโทเปียคือจินตนาการถึงโลกที่ทุกอย่างย่ำแย่ รัฐบาลสอดส่องผู้คน มาตรฐานการดำรงชีวิตตกต่ำ อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ผู้คนถูกล้างสมอง ปกปิดข้อมูล ตำรวจรัฐทำร้ายประชาชน และชนชั้นนำกับคนธรรมดาแบ่งแยกแตกต่างกันชัดเจน และโลกยูโทเปียคือโลกที่ทุกอย่างที่แตกต่างออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ โลกดิสโทเปียหลายครั้งเกิดจากโลกอุดมคติ ('ยูโทเปีย') ที่ไม่อาจปกปิดจุดบกพร่องดำมืดในสังคมเอาไว้ได้ และสังคมอุดมคติที่ว่าก็พังทลายจนกลายเป็นความโกลาหล

ข้อสรุปสั้นๆ ในข้อสังเกตนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาพของโลกแบบยูโทเปียสร้างขึ้นได้ แต่สังคมเช่นนั้นจะไม่อาจคงอยู่ในระยะยาวได้เพราะธรรมชาติอันไม่อาจคาดเดาได้ของสิ่งมีชีวิต [มนุษย์] ดังนั้นยูโทเปียจึงเป็นรากฐานทางทฤษฎี และมักใช้การไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริง เหตุที่งานเขียนส่วนใหญ่มุ่งไปที่ความล้มเหลวและความเป็นไปไม่ได้ของสังคมยูโทเปีย [จนกลายเป็นงาน 'ดิสโทเปีย'] บางทีอาจเพราะเรายังไม่เคยเดินทางไปถึงโลกในอุดมคตินั้นจริงๆ"

สังคมดิสโทเปียแสดงด้านที่เลวร้ายของโลกหรือปรากฏการณ์ความเสื่อมสลายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การหาสมดุลระหว่างมุมมองแง่บวกและแง่ลบก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้สังคมอยู่รอด หากปราศจากองค์ประกอบแบบโลกดิสโทเปีย สังคมจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนปรารถนาโลกที่ปราศจากความขัดแย้งและการสร้างความเจ็บปวด แม้เราไม่อาจมีโลกยูโทเปียจริงๆ เพราะส่วนลึกของข้อบกพร่องในธรรมชาติมนุษย์นั้นไม่อาจร่วมแรงกันต่อสู้เพื่อเป้าหมายแบบเดียวกันได้ ต่อให้นั่นหมายถึงการได้อยู่ในจักรวาลอันสงบสุขร่วมกันก็ตาม

==============================

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์วรรณกรรม The Paperless

==============================

สนพ.สมมติ มุ่งมั่นจัดพิมพ์วรรณกรรมยูโทเปียและดิสโทเปียชั้นเลิศไว้มากมาย ในชื่อชุด 'วรรณกรรมโลกสมมติ' เพื่อเป็นการรวบรวมวรรณกรรมแปลชั้นนำของโลกเพื่อนักอ่านชาวไทย ลองทำความรู้จักและสั่งซื้อวรรณกรรมโลกสมมติได้แล้ววันนี้

คลิกสั่งซื้อ Set หนังสือครบชุดวรรณกรรมโลกสมมติ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้