Last updated: 2 ต.ค. 2565 | 10135 จำนวนผู้เข้าชม |
THE AUTHOR | Non-fiction
•••
ธเนศ วงศ์ยานนาวา
ผู้หลงใหลและถ่ายทอดความคิดโพสต์โมเดิร์น - โมเดิร์น - และไม่โมเดิร์น นับเป็นนักวิชาการสายสังคมศาสตร์รัฐศาสตร์คนสำคัญของเมืองไทย
ด้วยความที่เติบโตมากับหนังสือภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ รักอิสระ และเป็นคนมีเหตุมีผล ชอบหาความรู้ ทำให้อาจารย์เชื้อสายจีนกวางตุ้ง-สิงคโปร์และอินโดนีเซียคนนี้ นิยามว่าตัวเขาเป็น 'นักคิดที่ไม่ได้จำกัดกรอบใด'
ธเนศมักถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ ด้วยลีลาภาษาที่หวือหวาจัดจ้าน แต่ที่เป็นลายเซ็นของเขาก็คือการเชื่อมโยงประเด็นที่ดูแล้วไม่น่าจะมีความเชื่อมโยงกันได้ มาตีแผ่ให้เห็นว่ามันมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่เราเองคาดไม่ถึง!
สำหรับบทบาทศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง และบรรณาธิการรัฐศาสตร์สาร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาส่วนมากจะชื่นชอบลีลาการสอนของเขา และบางคนจะคุ้นกับนามปากกา 'ธนา วงศ์ญาณณาเวช' ซึ่งเป็นคำผวนของชื่อและนามสกุลจริงของธเนศเอง
•••••••••
ผลงานของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ของสำนักพิมพ์สมมติ
สนใจสั่งซื้อ Set รวมงานธเนศ วงศ์ยานนาวา
1. On Politics /// 1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ ///
2. On Multiculturalism /// ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ///
3. On Sex /// เพศ: จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ ///
4. On Art & Cuture /// เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ ///
5. On Legitimacy /// ความสมเหตุสมผลของความชอบธรรม (การครอบงำ) ///
6. On People /// อะไรคือ 'ประชาชน': จากโรมันโบราณจนถึง เอ็มมานูเอล โจเซฟ ซีเยส ///
7. On Happiness /// อะไรคือ 'ความสุข' ///
8. On Monotheism /// ว่าด้วยเอกเทวนิยม ///
9. ON Anglo-American /// ว่าด้วยแนวคิดแบบแองโกล-อเมริกัน ///
•••
แม้ว่างานของธเนศซึ่งว่ากันว่าต้องใช้เวลาและมีสมาธิอ่านพอสมควร แต่งานทุกเล่มของเขาชี้ให้เห็นถึงสาระสำคัญหรือ 'Key concept' ต่อประเด็นนั้นๆ พร้อมกับการอธิบายเพิ่มเติมบริบทแวดล้อม งานทุกเล่มของเขาคล้ายกับการส่องไฟนำทางให้เห็นภูมิทัศน์ทางความรู้แบบอื่นๆ และความเป็นไปได้แบบต่างๆ
ตัวอย่างเช่น
เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ
---การเซ็นเซอร์เป็นกลไกสำคัญทางอำนาจของรัฐสมัยใหม่ที่ดำเนินการภายใต้พลังทางความคิดที่ฝังรากลึกด้วยความคิดของคริสต์ศาสนาที่แพร่กระจายออกไปทั่วโลกพร้อมกับระบบอาณานิคมและพลังของจักรวรรดินิยม จนในท้ายที่สุด ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงจริตทางเพศไปจากเดิม
---ผมกับผู้ทรงศีลเป็นของคู่กัน การโกนผมแสดงสัญลักษณ์ของการละเว้นเรื่องเพศ หรือเป็นการรักษาพรหมจรรย์ ผมจึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับความหมายทางเพศและการร่วมเพศ อันเป็นสิ่งชั่วร้ายตามหลักของหลายศาสนา
---‘ขน/ผม’ มีสถานะทางจริยธรรมแห่งวิถีชีวิต ถึงแม้ว่า ‘ขน’ จะเป็นธรรมชาติ แต่ขนก็เช่นเดียวกับอะไรอื่นๆ ที่เป็นธรรมชาติที่ยังต้องถูกกำกับด้วยการจัดระเบียบทางวัฒนธรรม
---จริยธรรมและสุนทรียะของสังคมคริสเตียน การเห็นขนเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นของความเป็นเพศที่กำลังจะก้าวข้ามพ้นอาณาเขตของศิลปะไปสู่เรื่องของกามตัณหา
ความไม่หลากหลาย’ ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม
---กรอบคิดเรื่องความหลากหลายเป็นผลิตผลของโลกกลางศตวรรษที่ 20 เพื่อตอบสนองปัญหาทางการเมืองของรัฐประชาชาติ ... ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงดำรงอยู่ในฐานะ ‘ประเพณีประดิษฐ์’ (Invention of tradition) อันเป็นผลพวงของสภาวะสมัยใหม่
---การให้มวลสมาชิกอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าเพียงเพราะค่านิยมและความเชื่อ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักเสรีนิยมที่เชื่อในความเท่าเทียมกันและความหลากหลายของสิ่งที่มีคุณค่า (value-pluralism) ทั้งนี้รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่มย่ามในค่านิยมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกทางศาสนา ตามหลักของเสรีนิยม สถานะของรัฐต้องเป็นกลาง (neutrality) แม้ว่ามวลสมาชิกในรัฐที่ทรงอำนาจอาจไม่นิยมชมชอบค่านิยมทางศาสนาและวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป
---‘เรื่องตลก ล้อเลียน เสียดสี’ เป็นสิ่งที่หัวเราะไม่ได้ในหมู่คนที่มีความเชื่อแตกต่างกัน คนที่ถูกหัวเราะย่อมไม่หัวเราะด้วย ตรงกันข้าม เสียงหัวเราะของฝ่ายหนึ่งกลับนำไปสู่ความโกรธแค้นของอีกฝ่ายหนึ่ง เสียงหัวเราะกลับเป็นการกดสถานะของผู้อื่นให้ไม่สำคัญหรือต่ำต้อยกว่า อารมณ์ขันจึงไม่ใช่เรื่องขำขันเสมอไป แต่เป็นการทำร้ายจิตใจและความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสิ่งเหล่านั้นเป็นที่เคารพบูชาหรือถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะตลกจำนวนมากก็พร้อมจบลงด้วยความรุนแรงเนื่องจากอีกฝ่ายไม่ขำ
1968 เชิงอรรถการปฏิวัติ
---วิญญาณขบถที่เข้าสิงในทศวรรษ 1960 นี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาเด็กวัยรุ่นดื่มเหล้ามึนเมาหรือชอบชกต่อย [...] แต่เป็นดั่ง ‘ผี’ ที่ไม่สามารถหา ‘เหตุ’ กันได้ง่ายๆ ดังนั้น ทุกอย่างจึงดูราวกับว่ามีแต่ ‘ผล’ และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ‘ผล’ ที่ว่านี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ปัจจุบัน แต่อยู่ที่อนาคต เพราะเป้าหมายสำคัญก็คือ การมีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม ความแตกต่างที่ปรากฏในนามของการ ‘ปฏิวัติ’
---ภาพของประธานเหมาก็คงไม่แตกต่างไปจากภาพของ เช เกวารา ภาพเหล่านี้ไม่ได้เป็นความหวังของ ‘สถาบันหลัก’ ของสังคม ตรงกันข้าม ภาพนี้สร้างความหวาดกลัวให้ชนชั้นนำของสังคมจำนวนมาก
---สำหรับสภาวะสมัยใหม่ เสรีภาพเป็นสิ่งที่ผู้คนที่มีสำนึกแบบใหม่ต้องการ การห้ามปรามสิ่งใดจึงมักถูกหลักเรื่องเสรีภาพคัดค้านเอาไว้ เสรีภาพจึงแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านไปในตัว ในแง่นี้ เสรีภาพจึงไปด้วยกันกับการปฏิวัติ เสรีภาพจึงกลายเป็นสิ่งอันตรายสำหรับพวกอนุรักษนิยม
26 ส.ค. 2565
26 ก.ย. 2565
16 ก.ย. 2565
25 ก.ย. 2565