Last updated: 25 เม.ย 2565 | 1267 จำนวนผู้เข้าชม |
โดยปกติแล้ว เรามักจะคิดว่านักเขียนหรือศิลปินที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีพรสวรรค์แน่ๆ ถึงได้เขียนผลงานชิ้นหนึ่งให้ผู้คนจดจำกันได้ขนาดนั้น
แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่า ‘พรสวรรค์’ แน่นอนมันคือ ‘พรแสวง’ และการฝึกฝน เป็นความจริงที่ว่าถ้าอยากทำอาหารอร่อย ก็ให้ฝึกทำอาหารและเมนูต่างๆ เป็นประจำ ถ้าอยากร้องเพลงเพราะ ก็ฝึกร้องให้บ่อย มุ่งมั่นฝึกฝน เหมือนกับทฤษฎีของธอร์นไดค์ที่ว่า ‘สิ่งใดมีการกระทำซ้ำๆ ผู้ฝึกย่อมกระทำสิ่งนั้นได้ดี’ การทำให้เป็นกิจวัตรไม่เพียงแต่จะทำให้เราพัฒนาทักษะขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้มีโอกาสพิจารณาการกระทำและผลงานของเราในแต่ละวัน ได้มีโอกาสแก้ไขในจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจจะทำพลาดไปในวันก่อนหน้านั้นอีกด้วย
วันนี้ สำนักพิมพ์สมมติจะพาผู้อ่านทุกท่านไปดูกันว่าการทำซ้ำให้เป็นกิจวัตรในแบบของนักเขียนแต่ละท่านจะเป็นแบบไหนกันบ้าง
Stephen King – สตีเฟ่นมักจะดื่มน้ำเปล่าหรือชาหนึ่งแก้วในตอนเช้า นั่งเล่นอีกครึ่งชั่วโมง กินวิตามินและฟังเพลง จากนั้นจะเริ่มนั่งอ่านและเขียนต้นฉบับในที่เดิมทุกวัน เขาพยายามที่จะเขียนหนังสือให้ได้วันละ 6 หน้า โดยใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง
Haruki Murakami – มุราคามิมักตื่นนอนในเวลาตีสี่ทุกวัน และเริ่มทำงานเขียน 5-6 ชั่วโมง ตอนบ่ายจะออกไปวิ่ง 10 กิโล หรือไม่ก็ว่ายน้ำระยะ 1500 เมตร หรือบางวันอาจจะทำทั้งคู่ หลังจากนั้นเขาจะอ่านหนังสือและฟังเพลงนิดหน่อย ก่อนจะเข้านอนตอน 3 ทุ่ม เขาต้องทำแบบนี้ทุกวันเพราะการทำซ้ำๆ มันสำคัญกับเขา มันช่วยสะกดจิตให้เขาเข้าสู่ความคิดที่ลึกลงกว่าเดิมได้
Mark Twain – มาร์คจะอ่านหนังสือหลังจากที่ทานอาหารเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะอ่านจนถึง 5 โมง ไม่ทานข้าวเที่ยงเพราะกลัวว่าคนในครอบครัวอาจจะมารบกวนการอ่านหนังสือ ถ้าพวกเขาต้องการหรือมีอะไรสำคัญก็จะบีบแตรเพื่อเรียกเขาลงมาจากห้อง
W. H. Auden – ออเดนกล่าวว่ากิจวัตรแสดงถึงความทะเยอทะยานและการมีเป้าหมาย เขาจะตื่นตอน 6 โมง ชงกาแฟ รีบเตรียมตัวทำงานโดยการเล่นครอสเวิร์ด (Crossword) เพื่อเป็นการวอร์มอัพให้สมองได้ตื่นตัวเต็มที่ เขาจะทำงานต่อหลังจากกินข้าวเที่ยงจนบ่ายแก่ พอ 6 โมงครึ่งก็จะถึงเวลาดื่มค็อกเทล หลังจากนั้นก็ทานอาหารเย็นที่เสิร์ฟพร้อมไวน์และเข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม แต่พอเริ่มแก่ตัวลงก็เข้านอนไม่เกิน 3 ทุ่มครึ่ง
Virginia Woolf – เวอร์จิเนีย วูล์ฟ จะตื่นเวลาเดิมทุกวันและกินข้าวเช้ากับสามีที่เป็นนักเขียนเหมือนกันและเธอจะเริ่มเขียนหนังสือตอน 9 โมงครึ่งทุกวัน
F. Scott Fitzgerald – ฟิตซ์เจอรัลด์เป็นคนนอนดึก เพราะเขาสามารถเขียนหนังสือได้ดีในตอนกลางคืน เขาจะจดบันทึกโครงเรื่องเอาไว้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยทุกครั้งที่จะเขียนหนังสือ
Ernest Hemingway – เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ จะตื่นขึ้นมาทำงานตั้งแต่แสงแรกของวัน เพราะจะไม่มีใครมากวนเขาได้ในเวลาเช้าตรู่ เขาจะทำงานไปเรื่อยๆ และจะหยุดก็ต่อเมื่อรู้สึกว่างเปล่าและไม่มีอะไรจะเขียนแล้ว แต่เขาก็บอกว่าการที่รู้สึกว่างเปล่าก็หมายความว่าเราได้เติมเต็มแล้วเหมือนกัน เขาบอกอีกว่า สำหรับเขา อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีความหมาย ถ้าพรุ่งนี้เขาไม่ได้ตื่นขึ้นมาทำแบบนี้เหมือนเดิม การที่ต้องรอให้ถึงวันพรุ่งนี้นั่นแหละ คือสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเขา
Karl Marx – คาร์ล มาร์กซจะไปห้องอ่านหนังสือที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ (British Museum) ทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม จากนั้นเขาจะกลับมาเขียนหนังสือต่อพลางสูบบุหรี่ไปด้วย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
พีรญาพร เตชาภณ : เรียบเรียง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
คลิกสั่งซื้อ Set 10 เล่มของนักเขียนในตำนานที่คุณต้องอ่านในชีวิตนี้ ในราคาพิเศษ
รวมผลงานของนักเขียนในตำนานที่ไม่ทำให้คุณต้องเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
นักเขียนทั้ง 10 คนนี้ เรียกได้ว่าเป็น นักเขียนคลาสสิค เพราะผลงานของพวกเขายังคงได้รับการตีพิมพ์จนกระทั่งปัจจุบัน และคงตีพิมพ์ต่อไปตลอดกาล